Journal / Blog

โรคกระจกตาย้วย

 

        โรคกระจกตาย้วย

     โรคกระจกตาย้วย (Keratoconus) เป็นภาวะที่มีความผิดปกติของกระจกตา คือ กระจกตามีลักษณะบางลงในบริเวณตรงกลาง ทำให้กระจกตาตรงกลางยื่นออกมาข้างหน้าเป็นรูปกรวย หรือ ย้วย หรือโปน หรือโป่งพอง หรือเบี้ยว อันเป็นที่มาของชื่อต่างๆนั่นเอง โดยที่ไม่พบมีการอักเสบหรือติดเชื้อใดใด อาจพบกระจกตารูปกรวยได้ถึง 4 – 600 คน ต่อประชากร 100,000 คน โดยมักจะเริ่มมีอาการในวัยรุ่นอายุประมาณ 13 – 14 ปี และมีการดำเนินโรคไปเรื่อยๆจนถึงประมาณ 10 – 20 ปี กระ จกตาจึงคงตัวหยุดการเปลี่ยนแปลง สาเหตุแท้จริงที่ทำให้เกิดโรค ยังไม่ทราบ แต่มักพบในหญิงมากกว่าในชาย ในอัตราส่วน 2 : 1 ในหญิงระหว่างตั้งครรภ์ จะมีการดำเนินโรครุนแรงชัดเจนมาก จึงเชื่อว่าฮอร์โมนเพศหญิงน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะนี้ ส่วนในด้านกรรมพันธุ์ ยังไม่แน่ชัด แต่พบว่า มีประวัติทางกรรมพันธุ์ในผู้ป่วยได้ประมาณ 20% ของผู้ป่วย ทั้งนี้มักจะพบความผิดปกตินี้ในทั้ง 2 ตา โดยที่ตาหนึ่งมักเป็นมากกว่าอีกตาหรือในระยะ แรกของความผิดปกติ จะพบเกิดกับตาข้างเดียวก่อน ต่อมาจึงเกิดความผิดปกติที่ตาอีกข้างตามมา

 

       กระจกตาย้วยมีกลไกการเกิดอย่างไร?

     จากการศึกษากลไกการเกิดโรคกระจกตาย้วย เชื่อว่า น่าเริ่มจากมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่เรียกว่า Basal ในเนื้อเยื่อบุผิวของกระจกตา ตามด้วยการฉีกขาดของเนื้อเยื่อกระจกตาชั้นที่เรียกว่า Bowman เนื้อเยื่อบุผิวกระจกตาจึงบางลงตัว และสารคอลลาเจน (Collagen) ในชั้นกลางของกระจกตามีการเรียงตัวที่ผิดไป ไม่สม่ำเสมอ นานเข้าเนื้อเยื่อชั้นที่อยู่ลึกคือชั้น Descemet มีการฉีกขาด ตามด้วยแผลเป็นที่เห็นได้ชัด (กระจกตาเป็นฝ้าขาว) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ ส่งผลให้กระจกตาบางลง จึงยื่นปูดออกมาข้างหน้า ทำให้เกิดภาวะตาสั้น – สายตาเอียงมากขึ้นๆตามความรุนแรงของกระจกตาที่ผิดปกติไป บางรายถ้ามีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อชั้น Descemet กระจกตาจะบวมน้ำทันที เรียกว่าเกิด Acute hydrop ซึ่งลักษณะอาการกระจกตาบวมน้ำนี้จะคล้ายกับอาการในผู้ป่วยโรคต้อหินเฉียบพลัน แต่ต่างกันที่ อาการจากกระจกตารูปกรวยบวมน้ำจะพบในคนอายุน้อยและมีความดันลูกตาไม่สูง

 

       กระจกตาย้วยมีอาการอย่างไร?

     อาการที่พบได้จากภาวะกระจกตาย้วย คือ เด็กวัยรุ่นที่มีสายตามัวลงๆ ร่วมกับเห็นภาพบิดเบี้ยว บางรายมีอาการเคืองตาแสบตา สู้แสงไม่ได้ มีสายตาสั้นและเอียงค่อนข้างมาก

 

       แพทย์วินิจฉัยภาวะกระจกตาย้วยอย่างไร?

     พบความผิดปกติของกระจกตา บางตรงกลางและโค้งมากบริเวณตรงกลาง เห็นได้ชัดในการตรวจด้วย Corneal topography ควรสงสัยภาวะนี้หากพบตาเอียงแบบไม่เป็นระเบียบ (irregular astigmatism) ร่วมกับกระจกตาตรงกลางค่อนมาด้านล่างมีความโค้งผิดปกตา

 

       แนวทางการรักษา คือ

     1 .ใส่แว่นตาแก้ไข สายตาสั้น – สายตาเอียง โดยทั่วไปมักใช้ได้ในช่วงระยะแรกๆของโรคที่กระจกตายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก
     2. ใส่คอนแทคเลนส์เมื่อสายตาเอียงมากขึ้นจนใส่แว่นไม่ได้ผล ซึ่งการใช้คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งจะช่วยแก้ไขสายตาได้ในระดับหนึ่ง

     3. การผ่าตัด เป็นที่ทราบกันดีว่า หากโรคเป็นรุนแรงขึ้น การรักษาจะลงเอยด้วยการเปลี่ยนกระจกตา (Keratoplasty) โดยบางรายงานพบว่าประมาณ 21% ของผู้ป่วยต้องลงเอยด้วยการเปลี่ยนกระจกตา และมีถึง 53% ต้องทำการเปลี่ยนกระจกตาครั้งที่ 2 และมี 33% ต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาครั้งที่ 3 ปัจจุบันจึงมีการพยายามหาวิธีรักษาเพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของกระจกตา ทำให้ลดความจำเป็นในการเปลี่ยนกระจกตาลง ได้แก่
     3.1 การผ่าตัดที่เรียกว่า Intracorneal ring implant (ICR) โดยการสอดวัสดุวงแหวนเข้าไปในเนื้อกระจกตา เพื่อเป็นการบังคับไม่ให้กระจกตาโป่งออกโดยวิธีนี่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบันเพราะให้ผลการรักษาออกมาค่อนข้างดีโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเปลี่ยนกระจกตา ปัจจุบันวิธีนี้ได้เริ่มใช้อย่างแพร่หลายในโรงเรียนแพทย์และรพ.เอกชนที่รักษาฉพาะทางในเรื่องนี้



     3.2 อีกวิธีที่มีในต่างประเทศ คือ วิธี Corneal collagen cross link (เรียกกันว่า CXL) เป็นการแช่กระจกตาด้วยสาร Ribroflavin แล้วตามด้วยการยิงกระจกตาด้วยแสงเลเซอร์ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงในเนื้อกระจกตา
     3.3 ล่าสุดมีการรักษาโดยวิธีผสมผสานระหว่าง ICR และ CXL ซึ่งคงต้องรอผลการรักษาในระยะยาวต่อไป

 

 

       ป้องกันได้อย่างไร

     การป้องกันกระจกตาย้วย เมื่อดูจากสาเหตุ แล้ว การป้องกัน 100% เป็นไปไม่ได้ แต่ที่พอช่วยได้คือ การป้องกันโรคภูมิแพ้ และเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้ต้องควบคุมโรคให้ได้ พยายามไม่ขยี้ตา โดยเฉพาะเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้ที่มีอาการคันตา